ไหวตัวให้ทัน!! 6 กลโกงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ป้องกันถูกหลอกด้วยสารพัดวิธี

 

 

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัยมากแค่ไหน เราก็ยิ่งเห็นความล้ำหน้าของแก๊งมิจฉาชีพมากเท่านั้น… เพราะการถูกหลอกทางโทรศัพท์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวทุกคน UndubZapp จึงอยากจะเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องทุกๆ ท่านมาทำความรู้จักลักษณะกลโกงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกโอนเงิน เพื่อให้พ่อแม่พี่น้องทุกๆ ท่านได้อัปเดตว่า สมัยนี้มีทริคอะไรที่ควรระมัดระวังบ้าง เมื่อท่านได้รับโทรศัพท์ที่ดูน่าสงสัย ท่านจะได้ไหวตัวทัน ไม่พลาดท่าเหล่ามิจฉาชีพ ป้องกันการถูกหลอกด้วยสารพัดวิธีค่ะ

 

ถาม: ลักษณะกลโกงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกโอนเงิน มีอะไรบ้าง?

ตอบ: มิจฉาชีพใช้หลากหลายวิธี โดยมากจะเป็นวิธีที่ทำให้เหยื่อใจหายในขั้นต้น

 

 

  1. หลอกว่าบัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือ เป็นหนี้บัตรเครดิต

กลโกงยอดนิยมที่มิจฉาชีพใช้บ่อย คือ หลอกว่าบัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือ เป็นหนี้บัตรเครดิต ส่วนใหญ่มักใช้ข้อความอัตโนมัติ เมื่อเหยื่อตื่นตกใจ รีบต่อสายคุย มิจฉาชีพจะรีบหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ และโน้มน้าวให้เหยื่อโอนเงินไปให้เพื่อเคลียร์ปัญหาให้จบ

 

  1. หลอกว่าโอนเงินผิด

กลโกงโอนเงินผิดมักเกิดตอนที่มิจฉาชีพมีข้อมูลของเหยื่อประมาณนึง ซึ่งมิจฉาชีพจะทำการโทรไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อขอสินเชื่อในนามของเหยื่อ เมื่อสถาบันการเงินโอนเงินให้เหยื่อแล้ว มิจฉาชีพจะโทรบอกเหยื่อว่าตนเองโอนเงินผิด เผลอโอนเงินเข้าบัญชีของเหยื่อ อยากให้เหยื่อช่วยโอนเงินคืน เมื่อเหยื่อพบว่ามีเงินเข้าจริง ก็รีบโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ โดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน

 

  1. หลอกว่าข้อมูลส่วนตัวหาย

กลโกงหากินกับความรู้ไม่เท่าทันของเหยื่อยอดนิยมอีกประการหนึ่ง คือ มิจฉาชีพวางอุบายว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันทางการเงิน และบอกว่าข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อหาย ครั้นเมื่อเหยื่อพลาดท่า มิจฉาชีพจะออกอุบายให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัวใหม่ โดยอ้างว่าเพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลใหม่ แต่แท้จริงแล้วก็แค่หลอกเก็บข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้เหยื่อโอนเงินให้ได้

 

  1. หลอกว่าบัญชีเงินฝากพัวพันกับธุรกิจสีเทา

กลโกงรูปแบบนี้อาศัยความกลัวของเหยื่อเป็นหลัก โดยมิจฉาชีพจะให้เหตุผลว่า บัญชีเงินฝากของเหยื่อพัวพันกับการค้ายาเสพติด การฟอกเงิน หรือการส่งพัสดุผิดกฏหมาย แล้วมิจฉาชีพก็จะขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดที่มีในบัญชีไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ข้อควรระวังคือ ช่วงนี้หลายๆ คนได้รับโทรศัพท์จากระบบอัตโนมัติซึ่งอ้างว่าโทรมาจากบริษัทขนส่งชื่อดัง และปลายสายมักจะให้กดเพื่อฟังรายละเอียดต่อ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ แต่อย่าหลวมตัวกดต่อ ขอให้ตรวจสอบความน่าจะเป็น รวมถึงโทรสอบถามกับบริษัทขนส่งก่อน

 

  1. หลอกว่าจะได้รับเงินภาษีคืน

กลโกงคืนเงินภาษีมักจะพบบ่อยในช่วงที่มีการยื่นภาษีและขอคืน มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร แจ้งเหยื่อว่าได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง แต่เหยื่อจะต้องยืนยันรายการและทำตามที่เจ้าหน้าที่บอกที่ตู้ ATM เท่านั้น

Advertisements

 

  1. หลอกว่าได้รับรางวัล

กลโกงประเภทนี้ มิจฉาชีพจะลวงเหยื่อโดยการอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ ตัวแทน หรือองค์กรบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แจ้งข่าวดีว่าเหยื่อได้รับเงินรางวัลที่มีมูลค่าสูง จึงจำต้องโอนเงินค่าภาษีมาให้ก่อน ถ้าเหยื่อหลงเชื่อก็จะติดบ่วงกลลวงของมิจฉาชีพ

 

ถาม: แก๊งคอลเซ็นเตอร์รู้เบอร์โทรศัพท์ของเราได้อย่างไร?

ตอบ: หลากหลายช่องทาง อาทิ

 

  1. จากการสุ่ม
  2. จากซองจดหมายหรือกล่องพัสดุทิ้งแล้วที่มีชื่อและเบอร์ติดต่อ
  3. จากการเก็บข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต
  4. จาก Social Media ที่เหยื่อโพสต์ข้อมูลไว้

 

ถาม: ป้องกันมิจฉาชีพได้อย่างไรบ้าง?

ตอบ: เพิ่มความระมัดระวังในการสื่อสารทางโทรศัพท์ ดังนี้

 

  1. หากได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ต้องมีสติระหว่างการพูดคุยสื่อสารตลอดเวลา
  2. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่นง่ายๆ ถึงแม้ว่าผู้ติดต่อจะอ้างว่าตนติดต่อมาจากส่วนราชการหรืออ้างชื่อสถาบันการเงินก็ตาม
  3. ระลึกไว้เสมอว่า สถาบันการเงินไม่มีนโยบายขอข้อมูลหรือคาดคั้นให้ลูกค้าทำธุรกรรมอย่างรวดเร็ว ลูกค้าจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำรายการผ่านตู้ ATM ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่
  4. ฟังรายละเอียดและประมวลความน่าจะเป็นให้ถี่ถ้วน
  5. วางสาย แล้วติดต่อสอบถามข้อมูลที่ได้รับจากสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง
  6. กรณีที่มีผู้กล่าวอ้างว่าตนโอนเงินผิดบัญชี ให้ติดต่อสอบถามสถาบันการเงินโดยตรง ถ้ามีเงินที่คนทั่วไปโอนเข้ามาผิดจริง สถาบันการเงินจะต้องเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินคืนเท่านั้น

 

รวมหมายเลข Call Center ของสถาบันการเงิน

ธนาคาร หมายเลขติดต่อ
ธนาคารกรุงเทพ 1333
ธนาคารกสิกรไทย 02 888 8888
ธนาคารกรุงไทย 02 111 1111
ธนาคารทหารไทยธนชาต 1428
ธนาคารไทยพาณิชย์ 0 2777 7777
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1572
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 02 165 5555
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 02 626 7777
ธนาคารทิสโก้ 02 080 6000 หรือ 02 633 6000
ธนาคารยูโอบี 02 285 1555
ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 02 697 5454
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 1327
ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) 02 629 5588
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 1357
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 02 555 0555
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 02 271 3700
ธนาคารออมสิน 1115
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 02 645 9000
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 02 612 6060

 

ข้อสังเกต

 

  • มิจฉาชีพมักจะหลอกให้เหยื่อทำรายการผ่านตู้ ATM โดยสั่งให้เหยื่อเลือกทำรายการเป็นภาษาอังกฤษ
  • มิจฉาชีพมักจะเร่งให้เหยื่อทำรายการต่างๆ ตามคำสั่ง โดยไม่ให้เวลาเหยื่อตรวจสอบ หรือสอบถามผู้อื่น

 

ที่มา: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)

 

Advertisements

Advertisements

Advertisements